รู้ไว้ใช่ว่า...กับเทคนิคการพ่นยากำจัดแมลงและศัตรูพืช แบ่งออกเป็นขั้นตอนดังนี้
การเตรียมอุปกรณ์และการผสมสารเคมี เพื่อการพ่นใช้งาน
วิธีการผสมสารเคมี อย่างถูกวิธี
สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แบ่งออกเป็น
1.ชนิดที่อยู่ในรูปแบบของเหลวเป็น "น้ำ"
2.ชนิดที่อยู่ในรูปแบบเป็น "ผง"
3.ชนิดที่อยู่ในรูปแบบเป็น "ก้อน"


การผสมสารเคมีส่วนมากจะต้องใช้ตัวทำละลายคือ "น้ำ" ซึ่งโดยทั่วไปเราจะได้จากน้ำในบ่อ หนอง คลอง บึง น้ำบ่อบาดาลหรือแม้แต่ในไร่ นา ของเราเอง ซึ่งน้ำจะเป็นตัวกลางในการทำละลายสารเคมี ดังนั้นต้องพยายามผสมน้ำยาให้ละลายเข้ากันอย่างทั่วถึง จึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน ซึ่งมีขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้
( วิธีนี้สามารถเหมาะกับการผสมสารเคมีที่อยู่ในรูปแบบ ของ น้ำ และ ผง )
1. สำหรับสารเคมีที่อยู่ในรูปแบบของ "น้ำ" ควรเทน้ำลงในถังที่จะผสมก่อนสักเล็กน้อย จากนั้นจึงเทสารเคมีฆ่าแมลงที่ตวงได้อัตราส่วนแล้วลงไปในถัง ใช้ไม้คนให้น้ำและสารเคมีปราบศัตรูพืชเข้ากันเป็นอย่างดี หลังจากนั้นให้เติมน้ำส่วนที่เหลือลงไปให้ได้อัตราส่วนตามที่กำหนด แล้วจึงคนส่วนผสมให้ทั่วทั้งถัง จนเห็นน้ำยาที่ผสมเป็นสีเดียวกัน แสดงว่าน้ำยาเข้ากันดีแล้วพร้อมใช้งาน
2. สำหรับสารเคมีที่อยู่ในรูปแบบของ "ผง" ใช้หลักการผสมแบบเดียวกัน แต่เคมีชนิดผงมักจะตกตะกอนและนอนอยู่ก้นถัง ดังนั้นเมื่อผสมกับน้ำลงในถัง
ผสมแล้ว ให้หมั่นคนสารเคมีที่ผสมแล้วเป็นระยะ ๆ ตลอดการพ่น และก่อนที่จะเทสารเคมีปราบศัตรูพืชออกจากขวดใส่ถังผสม ต้องทำการเขย่าขวดสารเคมีก่อนเทลงในถังผสมก่อนเสมอ เนื่องจากบางครั้งสารเคมีถูกเก็บไว้ในร้านที่จำหน่ายเป็นเวลานาน
3. น้ำที่ใช้ผสมควรใช้น้ำสะอาดปราศจากเศษวัชพืช ควรกรองเอาเศษผงออกเสียก่อน เพื่อไม่ให้เศษผงไปอุดตัน ในตัวปั้มพ่นยา หรือหัวฉีดของด้ามพ่นยา
4. ควรผสมน้ำและเคมีปราบศัตรูพืชให้ได้สัดส่วนที่พอดีกับการใช้งานทุกครั้ง โดยไม่ควรผสมให้เหลือเก็บไว้ใช้วันอื่น เนื่องจากเคมีบางตัวพอทำปฏิกริยากับน้ำแล้วจะเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว

การพ่นสารเคมีปราบศัตรูพืชอย่างถูกวิธี มีขั้นตอนดังนี้
เครื่องพ่นสารเคมีมีอยู่หลายชนิด เช่น เครื่องพ่นสารเคมีชนิดเป็นถังสะพายอัดลมด้วยแรงคน เครื่องพ่นสารเคมีอัดลมด้วยเครื่องยนต์ เครื่องพ่นสารเคมีด้วยการเป่าลมให้น้ำยาฟุ้งกระจาย ( ปั้มพ่นยา 3 สูบ ) หรือที่เรียกว่า เครื่องพ่นสารเคมีชนิดฝอยละเอียด
1. ตรวจความเรียบร้อยของเครื่องพ่นสารเคมี ให้อยู่ในสภาพดี ไม่มีการรั่วซึม หรือ ท่อที่ใช้สำหรับพ่นไม่มีรอยรั่ว หรือ แตกร้าว
2. เตรียมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น แว่นตาป้องกันดวงตา หรือสวมหน้ากาก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง โดยใช้การสวมใส่ถุงมือยาง
และควรสวมใส่เสื้อผ้าปิดร่างกายให้มิดชิด ( ควรจะเป็นเสื้อแขนยาวกางเกงขายาว ) ขณะทำงานควรระมัดระวังละอองสารเคมีไม่ให้มีการเข้าปาก จมูก หรือสัมผัสถูกร่างกายโดยตรง
3. พ่นสารเคมีให้ทั่วทั้งต้น แต่ไม่ควรให้เปียกใบ จนโชกเกินไป เพราะทำให้สิ้นเปลืองน้ำยามาก
4. ในการพ่นสารเคมี ถ้าการปฏิบัติงานอยู่ในระยะที่มีมรสุมหรือมีฝนตกชุก ควรเลื่อนการพ่นสารเคมีออกไปก่อน แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้
ก็ให้พยายามพ่นสารเคมีให้เสร็จก่อนฝนตกสัก ๒ ชั่วโมง เพราะฝนตกมาหลังจากนั้นจะไม่เสียหาย ไม่จำเป็นต้องพ่นซ้ำ
แต่ถ้าหากฝนตกขณะที่กำลังพ่นสารเคมีหรือพ่นสารเคมีเสร็จแล้วไม่เกิน ๒ ชั่วโมง จำเป็นที่จะต้องพ่นสารเคมีซ้ำอีกรอบ เพื่อได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด

ข้อควรระวังเป็นพิเศษในการพ่นสารเคมีปราบศัตรูพืช
1. ในการพ่นสารเคมีปราบศัตรูพืชหรือชาวบ้านเรียกว่า ยาฆ่าแมลงต้องระมัดระวังอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีพิษและอันตรายสูง ส่งผลโดยตรงต่อคนและสัตว์เลี้ยงดังนั้น ก่อนการจะใช้สารเคมีฆ่าแมลงจะต้อง ศึกษาข้อมูลประกอบการใช้งานหรือเอกสารกำกัลการใช้งาน และควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อลดอันตรายจากสารเคมีฆ่าแมลง
2. ต้องสวมหน้ากากและถุงมือยาง ใส่เสื้อผ้าปิด ร่างกายให้มิดชิด ระวังละอองสารเคมีมิให้เข้าปาก จมูกและถูกร่างกาย
3. ควรต้องศึกษาทิศทางของลมก่อนการทำงาน โดยควรเดินพ่นสารเคมีให้ฟุ้งกระจายตามลมหรือ พ่นในทิศทางขวางงลม ห้ามเดินทวนลมเป็นอันขาดเพราะสารเคมีที่พ่นกระจายในไปอากาศจะกลับเข้าโดนร่างการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
4. ห้ามสูบบุหรี่ขณะพ่นสารเคมี และควรล้างมือ ให้สะอาดก่อนการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร
5. เมื่อหัวฉีดอุดตัน ห้ามใช้ปากเป่า ควรถอดออก ล้างน้ำให้สะอาด หรือใช้เข็มแยง
6. เมื่อพ่นสารเคมีเสร็จแล้ว ควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำชำระล้างร่างกาย ฟอกสบู่และสระผมให้สะอาดทุกครั้ง เสื้อผ้าที่ใช้ในการปฏิบัติงานควรซักให้สะอาดด้วยทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมของสารเคมี จะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
7. ควรมีน้ำสะอาด สบู่หรือผงซักฟอกเตรียมไว้ให้พร้อมใกล้ ๆ กับที่พ่นสารเคมี ( อยู่ในที่มิดชิด ละอองของสารเคมีเข้าไม่ถึง ) เผื่อมีเหตุฉุกเฉินโดนสารเคมีเข้าตา หรือปาก หรือสัมผัสโดนร่างกาย จะได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และชำระล้างได้ทันทีท่วงที ก่อนจะไปพบแพทย์
8. เมื่อมีอาการแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่น ไส้ หรือเกิดอาการผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างการพ่น สารเคมี หรือหลังการพ่นสารเคมี ให้หยุดทำงานทันที จากนั้นให้เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วรีบไปพบแพทย์ที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว
9. ภาชนะที่บรรจุสารเคมีฆ่าแมลง เช่น ขวด กระป๋อง ถุง ฯลฯ เมื่อใช้หมดแล้วให้ทำลายทิ้งเสีย โดยอาจจะใช้วิธีฝังกลบดินก็ได้ ห้ามนำไปบรรจุอาหารหรือน้ำดื่ม ทั้งคนและสัตว์เป็นอันขาด เพราะถึงแม้จะล้างแล้วก็ไม่สามารถ ทำให้สารพิษที่ติดค้างอยู่หมดไปได้
10. เก็บสารเคมีปราบศัตรูพืชในที่ที่มิดชิด ให้พ้นมือเด็กและห่างจากสัตว์เลี้ยง ควรมีห้องเก็บต่างหากเพื่อความปลอดภัย อุปกรณ์การพ่นสารเคมีฆ่าแมลงเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ไม่ควรนำไปล้างในบ่อน้ำหรือแหล่งเก็บน้ำต่าง ๆ ( ของชุมชน ) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและผู้ใช้น้ำบริเวณนั้นได้
